Search

คอลัมน์การเมือง - ประชาธิปไตยสไตล์สิงคโปร์ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

economifgg.blogspot.com

หากมองกันเพียงองค์ประกอบที่ว่า ประเทศมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่สามารถแข่งขันกันเพื่อมีที่นั่งในสภา และเสียงข้างมากก็ไปตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป ซึ่งเสียงหรือที่นั่งในสภาก็มาจากประชาชนพลเมืองที่ต่างมีสิทธิเสรีภาพในการไปหย่อนบัตรลงคะแนน และแสดงออกซึ่งความประสงค์ว่าชื่นชอบพรรคและผู้สมัครใด ฉะนั้น ก็คงกล่าวได้ว่า ประเทศสิงคโปร์นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยดีอยู่

แต่หากจะมองให้ลึกลงไปหน่อย ก็จะเห็นว่าการเลือกตั้งของสิงคโปร์นั้นดูไม่ค่อยจะเป็นเสรี บางครั้งถึงขั้นไม่ค่อยจะแฟร์ หรือยุติธรรม (Free and Fair) เนื่องจากการที่สิงคโปร์มีกฎเกณฑ์กติกาที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพ และตีกรอบบทบาทของพรรคฝ่ายค้าน หรือกลุ่มผู้เห็นต่าง อีกทั้งกฎหมาย (ที่ออกโดยฝ่ายรัฐบาล) ยังมีการให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวาง ในการตั้งข้อหาจับกุม และลงโทษ ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านมีที่ยืนในสังคมอย่างจำกัด แทบจะขยับเขยื้อนไม่ได้ จึงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบฝ่ายพรรครัฐบาลอย่างมากมายมาโดยตลอด

บัดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์โดยประธานาธิบดี นายฮาลีมาห์ยาคอบ ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี นายลี เซียน ลุง ได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายนนี้ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ทั้งที่รัฐสภาและรัฐบาลยังจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงเดือนเมษายน 2564 ชาวสิงคโปร์ก็จะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ซึ่งฤดูหาเสียงก็จะมีแค่สัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น สะท้อนความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาล และความเสียเปรียบของบรรดาพรรคคู่แข่งฝ่ายค้านที่มีเวลาเตรียมตัวอย่างกระชั้นชิดมาก กฎเกณฑ์กติกาของสิงคโปร์ที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยเท่าใดนักมีอยู่หลายประการ อาทิ

1. นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับควบคุมกรมการเลือกตั้งและคณะกรรมการกำหนดเขตเลือกตั้ง โดยไม่ต้องมีองค์กรใดมาควบคุมตรวจสอบ (Oversight) และการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับวิธีการจัดการเลือกตั้ง กำหนดระยะเวลาการเลือกตั้ง และกำหนดเขตเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การกำหนดการเลือกตั้งทั้งหมดจึงขาดความโปร่งใสโดยปริยาย

2. สืบเนื่องจากข้อแรก ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มักจะกำหนดวันเลือกตั้งแบบทันทีทันใด และกำหนดระยะเวลาให้มีการหาเสียงเป็นเวลาสั้นๆ (ประมาณ 14 วัน) ซึ่งจะมีผลให้ฝ่ายค้านเตรียมตัวไม่ทัน นอกจากนั้นยังจะถูกบีบด้วยระยะเวลาหาเสียงที่จำกัดดังกล่าว

3. ฝ่ายรัฐบาลมักใช้อำนาจตามข้อกฎหมายที่ตั้งไว้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ข่มขู่ และฟ้องร้องเรียกค่าปรับในจำนวนที่สูงลิ่ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลในฝ่ายค้านล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลนั้นสูญเสียสิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถเล่นการเมืองต่อไปได้ วิธีการนี้จึงเป็นวิธีการยอดนิยมของฝ่ายรัฐบาลในการปิดปากฝ่ายค้าน และเป็นการกลั่นแกล้งไปในตัว

4. ล่าสุด รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องโรคระบาดโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งได้ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง” ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาลายู มาเป็นรัฐปกครองตนเอง (Autonomous States) ภายใต้เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) จนกระทั่งเป็นเอกราชเต็มตัวในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) และต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party-PAP) ได้อยู่ในอำนาจบริหารประเทศสิงคโปร์มาโดยตลอด เรียกว่าผูกขาดอำนาจ

ที่เป็นดังนี้ได้ในแง่หนึ่ง ก็เพราะสามารถแปลงสภาพสิงคโปร์จากประเทศกำลังพัฒนา บนเกาะเล็กๆ ให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วระดับชั้นนำของโลกได้ในระยะเวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ ให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับของโลก และศรัทธาของชาวสิงคโปร์

และพื้นฐานความสำเร็จ ก็คือการที่รัฐบาลพรรค PAP ตอบสนองความต้องการของประชาชนตามคำมั่นสัญญาด้วยความจริงจัง ด้วยความอุตสาหะ และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป และได้รับการยอมรับนับถือจากประชาคมโลกให้เป็นแบบอย่างของสังคมที่ผู้บริหารประเทศมีธรรมาภิบาลอย่างสูงยิ่ง

สิงคโปร์จึงเป็นสังคมที่ชาวสิงคโปร์อิ่มท้อง มีความสะดวกสบายต่างๆ นานา และมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูงสุดของโลกประเทศหนึ่ง แต่ชาวสิงคโปร์ก็ต้องแลกกับข้อจำกัดจำเขี่ยทางด้านสิทธิเสรีภาพทางการเมือง หรือยินยอมที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบกึ่งเสรี และอยู่ในสถานะที่ต้องรับคำสั่งคำชี้ขาดจากอำนาจรัฐเบื้องบน แทนที่จะสามารถมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในความเป็นไปของประเทศ ทั้งที่คนสิงคโปร์ทุกคนต่างมีการศึกษา และมีสติปัญญาความรู้รับผิดชอบที่จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ในการขับเคลื่อนประเทศ

แต่เพราะฝ่ายรัฐบาลพรรค PAP ก็ยังไม่ยอมเปิดโอกาสให้กับประชาชนพลเมือง และยังมุ่งใช้กฎเหล็กทั้งหลายในการปกครองประเทศต่อไป เสมือนไม่แน่ใจในตัวเองว่าที่ผ่านมานั้นดีเพียงพอที่จะเอาชนะใจชาวสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องไปตีกรอบบังคับกัน หรือยังมีการดูถูกดูแคลนคุณภาพของคนสิงคโปร์ว่าเป็นพลเมืองประชาธิปไตยไม่ได้จริง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เจริญพอๆ กับสิงคโปร์ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เขาก้าวไปเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว ก็เลยเป็นข้อน่าสงสัยว่าผู้นำสิงคโปร์เป็นพวกอำนาจนิยมและหลงอำนาจ มากกว่าการเคารพประชาชนพลเมือง และการยึดมั่นในหลักการว่าด้วย การมีส่วนร่วม

การคงอยู่ของประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์ จึงดูไม่สอดคล้องกับคุณภาพของชาวสิงคโปร์ และไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับโลกที่เจริญแล้วด้วยประการทั้งปวง

การที่จะหวังว่าการเปลี่ยนอกเปลี่ยนใจของผู้นำสิงคโปร์ในพรรค PAP จะเกิดขึ้น ก็คงจะยากลำบาก ภาระก็ขึ้นอยู่กับคนสิงคโปร์เอง ที่จะคิดและเห็นว่าสิทธิเสรีภาพก็เป็นอาหารอันโอชารสที่มนุษย์ที่เป็นเสรีชนควรพึงมี มิฉะนั้นการจะพึงพอใจไปกับความพร้อมทางวัตถุเท่านั้น ก็คงไม่ต่างไปจากทารกในบ้านที่ต้องถูกดูแลอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่อาจเติบโต เติบใหญ่ไปได้

ที่ประเทศไทยเรา แม้จะยังไปไม่ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ก็มีความเพียรพยายามมาโดยตลอด ก็หวังว่าเพื่อนสิงคโปร์จะเป็นเช่นนั้น และคงอยากมีชีวิตเหมือนๆ กับเพื่อนบ้านประชาธิปไตย 4 ประเทศดังกล่าว




July 01, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3dKwU1l

คอลัมน์การเมือง - ประชาธิปไตยสไตล์สิงคโปร์ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2wwKMNp


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - ประชาธิปไตยสไตล์สิงคโปร์ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.